ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ กับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

“นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คว้าตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่อย่างเป็นทางการ ด้วยคะแนนเสียงชนะขาดทุกเขต พร้อมผลักดันนโยบายแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเมือง, เพิ่มพื้นที่สีเขียว, การจัดการขยะ เพื่อสุขภาพที่ดีของชาวกรุงเทพฯ”

โดยในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ประกาศนโยบายที่จะพัฒนาแก้ไขปัญหากรุงเทพมหานครถึง 214 นโยบาย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวกทม.  โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญ คือ เรื่องของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ที่น่าสนใจ เช่น

1.    นโยบายเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 จัดทีม ‘นักสืบฝุ่น’ ศึกษาต้นตอ PM2.5 เพื่อจะได้รู้ถึงที่มาและต้นกำเนิดของฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ นำไปสู่การจัดการอย่างตรงจุด  โดยทางกทม.จะเป็นเจ้าภาพในการทำบัญชีที่มาของฝุ่นภายในกรุงเทพฯ โดยจะร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในการสืบทราบต้นตอของฝุ่น ทั้งการเก็บตัวอย่าง การวิเคราะห์องค์ประกอบ เช่น คุณสมบัติทางเคมี อิออน โลหะหนัก เพื่อเก็บสถิติและระบุถึงต้นตอนของฝุ่น เพื่อนำไปเป็นข้อมูลสำหรับการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ทั้งในแง่การป้องกันการปล่อยมลพิษ และในแง่การเอาผิดจากผู้ปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐาน

2.    นโยบายตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงาน เพื่อรักษาคุณภาพอากาศที่ดีให้กับประชาชน โดยกทม.จะเป็นเจ้าภาพในการเข้าไปตรวจสอบการปล่อยมลพิษเชิงรุกของโรงงาน

3.    นโยบายดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ปล่อยมลพิษ เพื่อลดมลพิษทางอากาศลงจากการดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ปล่อยมลพิษ

จากนโยบาย ‘นักสืบฝุ่น’ และ ‘การตรวจสอบมลพิษในโรงงาน’ จะทำให้ กทม.ตรวจสอบพบผู้กระทำความผิดปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐานได้ ดังนั้น กทม.จะดำเนินมาตรการจากเบาไปหาหนักเพื่อให้ผู้ประกอบการต่างๆ ลดการปล่อยมลพิษให้มาอยู่ในระดับที่มาตรฐานกำหนด เช่น การตักเตือนและกำหนดแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหา (มาตรการเบา) การสั่งให้หยุดประกอบกิจการ การก่อสร้าง หรือเพิกถอนใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง (มาตรการหนัก)

4.    นโยบายสนับสนุนให้เกิด ecosystem รถพลังงานไฟฟ้า เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของประชาชน ทั้งการซื้อรถใหม่ และการดัดแปลงรถเดิม นอกจากนี้ยังทำใหอากาศบริสุทธิ์ขึ้น มลพิษทางอากาศลดลง

5.    นโยบายพัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ด้วยต้นไม้สำหรับพื้นที่เปิด ด้วยเครื่องฟอกอากาศสำหรับพื้นที่ปิด เพื่อกรุงเทพฯจะได้มีพื้นที่ที่มีอากาศสะอาดไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

6.    นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง เพื่อกทม.จะได้มีพื้นที่สีเขียวและร่มเงาในเมืองเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้กำแพงกรองฝุ่นจากต้นไม้ในพื้นที่ประชาชนหนาแน่น

7.    นโยบาย พยากรณ์ แจ้งเตือน ป้องกันฝุ่น PM2.5 เพื่อให้ชาวกทม.ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเปราะบางและประชาชนที่ต้องทำงานกลางแจ้ง และสามารถรับรู้ถึงสถานการณ์ฝุ่นได้อย่างสะดวกไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรอยู่ นอกจากนี้ยังสามารถรับข้อมูลการพยากรณ์ฝุ่นที่แม่นยำในระดับชั่วโมงและระดับพื้นที่

8.    นโยบายจัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต เพื่อให้ชาวกทม.มีทางเดินเท้าที่มีต้นไม้ให้ร่มเงาและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับพื้นที่

9.    นโยบายสวน 15 นาที ทั่วกรุง เพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่ทำกิจกรรมได้กระจายตัวอยู่ทุกที่ และสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินภายใน 15 นาที

10.    นโยบายสนับสนุนการแปลงที่ของประชาชนและเอกชนให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวของประชาชน นอกจากการประยุกต์ใช้พื้นที่ของภาครัฐแล้วนั้น ยังสามารถผลักดันให้เกิดการเปิดพื้นที่ของภาคเอกชน เพื่อการใช้ประโยชน์สำหรับสาธารณะต่างๆ ได้ในรูปแบบการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบนที่ดินเอกชน (privately owned public space หรือ POPS)

กทม.จะใช้มาตรการลดหย่อนภาษีจากการสร้างสาธารณประโยชน์ การหาภาคีในการร่วมพัฒนาพื้นที่ หรือการกำหนดข้อตกลงในเชิงการบริหารจัดการ เช่น การดูแลรักษา ทำความสะอาดโดย กทม. หรือการให้บริการสาธารณูปโภคโดยภาครัฐ เป็นต้น

ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ กับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

11.    นโยบายสภาพแวดล้อมเมืองดี จุดทิ้งขยะถูกสุขอนามัย ไม่มีขยะตกค้าง

1. มอบหมายเจ้าหน้าที่ลงสำรวจและทำความสะอาดจุดทิ้งขยะที่เป็นปัญหา – บูรณาการระหว่างฝ่ายรักษาความสะอาดฯ และฝ่ายสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง พร้อมทั้งจัดทำแผนงานทำความสะอาดครอบคลุมทุกพื้นที่ในระยะยาว ควบคู่กับการนำข้อมูลสภาพปัญหาและข้อร้องเรียนเรื่องจุดที่มีขยะตกค้างบริเวณชุมชน ริมทางสาธารณะ ตลอดจนที่ดินรกร้างเอกชนมาดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

2. ร้องเรียนขยะตกค้างผ่านฟองดูว์ – เชื่อมโยงกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพิ่มช่องทางการร้องเรียนและรับเรื่องด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้ได้รับข้อมูลแม่นยำ เป็นปัจจุบัน และมุ่งแก้ปัญหาได้รวดเร็วทันเหตุ นอกจากนี้ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายอาชีพในเมือง เช่น วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย หรือคนขับรถรับจ้างสาธารณะ ในการช่วยกันสอดส่องและร่วมแจ้งเหตุที่เกิดในพื้นที่สาธารณะ

3. เพิ่มประเภทขยะถังติดเชื้อในจุดทิ้งขยะ – จากการระบาดของไวรัสโควิด 2019 มากกว่า 2 ปี ทำให้ประชาชนมีอุปกรณ์ทั้งหน้ากากอนามัย ที่ตรวจ ATK เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคของประชาชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ กทม. พนักงานขนขยะ พนักงานทำความสะอาด กทม. จึงต้องจัดให้มีจุดทิ้งขยะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทั้งถังขยะทั่วไป ถังขยะของชุมชน รวมทั้งการรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะติดเชื้อในพื้นที่ต่างๆ ของเอกชน

4. จัดทำแผนงานและประชาสัมพันธ์การเก็บขยะชิ้นใหญ่อย่างชัดเจน – โดยปกติ กทม.จะมีโครงการเก็บขยะชิ้นใหญ่ร่วมกับชุมชนจดทะเบียนทั้ง 2,000 กว่าชุมชน หากประชาชนทั่วไปต้องการใช้บริการต้องโทรแจ้งและนัดหมายล่วงหน้าซึ่งที่ผ่านมาประชาชนบางส่วนไม่รับทราบ ดังนั้น กทม.จึงจะดำเนินการจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ เช่น ตู้ เตียง เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า ขยายสู่หมู่บ้านจัดสรร บ้านในรั้ว ตึกแถว และคอนโดมิเนียม ด้วยแผนงานรอบการจัดเก็บที่ชัดเจน ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบทั้งออฟไลน์และออนไลน์ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย

12.    นโยบายแยกขยะต้นทางและขยะเปียกจากองค์กรแบบมุ่งเป้า ริเริ่มการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางในแหล่งพาณิชยกรรมที่มีกิจกรรมและผู้ใช้งานหนาแน่น และปลูกฝังค่านิยมการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบในเยาวชนและประชาชนทั่วไป เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมวิถีใหม่เพื่อเมืองที่ดีขึ้น

13.    นโยบายรถขยะไซส์เล็ก เข้าใจเมือง เข้าถึงบ้าน

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันสิ่งแวดล้อมโลก ตรงกับ 5 มิถุนายน ของทุกปี ควรทำอะไรบ้าง สำคัญอย่างไร?

Previous article

UNFCCC หารือกรณีการใช้งานบล็อกเชนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Next article

You may also like