กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

รัฐบาลลุยนโยบายลดโลกร้อน ทส.ปรับโครงสร้างหน่วยงานตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขับเคลื่อนภารกิจ

21 ธ.ค.2565 – น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ให้นโยบายพร้อมมีข้อสั่งการหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนในมิติต่างๆ เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือปัญหาโรคร้อนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และเป็นไปตามถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุม COP26 ที่ระบุว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี2050 (พ.ศ.2593) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 (พ.ศ.2608)

ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำโดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อดูแลภารกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพแวดล้อม บริบทด้านสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนข้อตกลงระหว่างประเทต่างๆ เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่จะมาขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ จัดตั้งขึ้นโดยการปรับโครงสร้างส่วนราชการภายใน ทส.โดยปรุงหน้าที่และอำนาจและเปลี่ยนชื่อมาจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีการตัดโอนหน่วยงานระหว่างกรมในกระทรวง โอนกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้ม (สผ.) เข้ามาเป็นหน่วยงานภายใต้กรมด้วย

สำหรับโครงสร้างของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ จะประกอบด้วย สำนักงานเลขานุการกรม, กองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ, กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก, กองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และ ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และมีหน่วยงานกลุ่มตรวจสอบภายในและกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร มีอัตรากำลัง ประกอบด้วย ข้าราชการ จำนวน 219 คน พนักงานราชการ จำนวน 309 คน และลูกจ้างประจำ จำนวน 19 คน

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างแล้วและกรมที่เกิดขึ้นใหม่นี้ จะมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนภารกิจรองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายด้าน

อาทิ เสนอแนะและจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน มาตรการเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ การลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจัดทำและให้บริการข้อมูลและข้อสนเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ศึกษา วิจัย พัฒนา ถ่ายทอด และส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นศูนย์เทคโนโลยีสะอาดและศูนย์ปฏิบัติการอ้างอิงด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนดูแลภารกิจเพื่อให้ไทยดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญา พิธีสาร และความตกลงระหว่างประเทศ เสนอแนะแนวทาง และท่าทีในการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องและรายงานข้อมูลตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก thaipost

“สิงห์” เปิดตัวบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน “Singha Sustainable Pack”

Previous article

Climate Action 2023

Next article

You may also like