City in a Garden สิงคโปร์เมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวมากถึง 66 ตารางเมตรต่อคน

หากมองภาพเมืองสิงคโปร์ในยามนี้ คงเห็นทั้งสวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว และอาคารที่พักอาศัย ที่เต็มไปด้วยสีเขียวชุ่มฉ่ำสบายตา ด้วยนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้สิงคโปร์เป็น “City in a Garden”

ชีวิต สีเขียว ต้นไม้ สัญลักษณ์ของเมืองสิงคโปร์

ปัจจุบันสิงคโปร์ประกาศนโยบาย “City in a Garden” ซึ่งอยู่ในแผนแม่บทพัฒนาเมือง ค.ศ. 2014-2030 และแผนแม่บทการลงทุนของสิงคโปร์ ค.ศ. 2030 (The Singapore Property Master Plan 2030) ภายใต้แนวคิด “More Land, More homes, More Greenery” สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศสิงคโปร์ยังคงเดินหน้านโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองให้มากขึ้นไปอีก

8 พื้นที่สีเขียวน่าปักหมุดในสิงคโปร์ City in a Garden

สิงคโปร์ไม่เพียงอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรธรรมชาติไว้เท่านั้น แต่ยังออกแบบผังเมืองและสถานที่ต่าง ๆ ให้ธรรมชาติเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ทั้งสวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว และอาคารพักอาศัยที่ออกแบบมาอย่างพิถีพิถันเพื่อให้ธรรมชาติและมนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว

Kampung Admiralty ต้นแบบอาคารสีเขียวของผู้สูงวัย

Kampung Admiralty คือต้นแบบอาคารสำหรับผู้สูงอายุแห่งแรก (First Retirement Village) ของสิงคโปร์ ซึ่งตอบรับต่อรูปแบบเมืองแห่งอนาคตที่นำสิ่งอำนวยความสะดวกมาไว้ในที่เดียวกัน ประกอบด้วยพื้นที่สีเขียวให้ผู้อยู่อาศัยได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ โดยเฉพาะบริเวณชั้น 8 ซึ่งนับว่าเป็น “ปอด” ของอาคาร สวนหย่อมบนชั้นนี้มีการปลูกต้นไม้นานาพรรณลดหลั่นกันคล้ายภูเขาขนาดเล็ก และมีการออกแบบสิ่งต่าง ๆ ที่คำนึงถึงผู้สูงอายุ ทั้งทางลาดสำหรับรถเข็น และจุดนั่งพักขาตลอดทางเดิน

PARKROYAL COLLECTION Pickering สวนลอยฟ้าแห่งแรกที่มีการใช้พลังงานเท่ากับศูนย์

PARKROYAL COLLECTION Pickering คือโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจใจกลางเมือง มีสวนลอยฟ้าขนาดใหญ่พื้นที่กว่า 15,000 ตร.ม. ถูกจัดเรียงเป็นทิวทัศน์หุบเขาและน้ำตก เต็มไปด้วยพืชเขตร้อน มีระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการกักเก็บน้ำฝนเพื่อประหยัดน้ำ ถือเป็นสวนลอยฟ้าแห่งแรกที่มีการใช้พลังงานเท่ากับศูนย์ หรือ Zero Energy ในสิงคโปร์

Singapore Botanic Gardens สวนพฤกษศาสตร์มรดกโลกแห่งสิงคโปร์

Singapore Botanic Gardens ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) โดยใจกลางสวนพฤกษศาสตร์ขนาด 60 เอเคอร์แห่งนี้ คือสถานที่ตั้งของสวนกล้วยไม้แห่งชาติ (National Orchid Garden) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีกล้วยไม้กว่า 60,000 ต้น และกว่า 3,000 สายพันธุ์

Gardens by the Bay ป่าขนาดย่อมใจกลางเมือง

Gardens by the Bay หนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเต็มไปด้วยพรรณไม้ใหญ่น้อยนานาชนิด เสมือนจำลองป่าขนาดย่อมซึ่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ ภายในแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ เช่น Flower Dome, Cloud Forest และ Super tree Grove & OCBC Skyway ซึ่งจะมีการแสดงแสงสีเสียง Garden Rhapsody เป็นประจำทุกคืน

Punggol สวนสาธารณะสีเขียวสวรรค์ของนักปั่น

สวนสาธารณะปังโกล (Punggol Park) อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสิงคโปร์ มีทะเลสาบตั้งอยู่ใจกลาง และมีเส้นทางจักรยาน ความยาว 4.2 กิโลเมตร ที่นี่จึงเป็นสถานที่ยอดฮิตสำหรับการมาเดินเล่นและปั่นจักรยาน ภายในแบ่งออกเป็น 2 โซน ได้แก่ Southern Active Zone สำหรับทำกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ และ Passive Zone ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าทางตอนเหนือของทะเลสาบ

Fort Canning Park สวนบันทึกประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์

สวนสาธารณะฟอร์ทแคนนิง (Fort Canning Park) มีขนาด 18 เฮคเตอร์ หรือ 180,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนเนินเขาใจกลางเมือง นอกจากจะมีธรรมชาติอันร่มรื่นแล้ว ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะในอดีตเคยเป็นป้อมปราการและหอสั่งการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สวนแห่งนี้จึงมีสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์อยู่มากมาย

Pulau Ubin เกาะธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในสิงคโปร์

เกาะปูเลาอูบิน (Pulau Ubin) คือแหล่งธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดและอุดมสมบูรณ์ที่สุดในสิงคโปร์ เป็นถิ่นที่อยู่ของพันธุ์ไม้หายากและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด โดยเฉพาะนกที่ใกล้สูญพันธุ์ ที่นี่จึงเป็นสถานที่โปรดปรานของบรรดาผู้รักธรรมชาติที่ต้องการมาพักผ่อน หรือเที่ยวชมแบบไปเช้าเย็นกลับ

Marina Barrage อ่างกักเก็บน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์

Marina Barrage ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมารีน่า ซึ่งเป็นจุดบรรจบกันของเส้นทางน้ำถึง 5 สาย จึงเป็นอ่างกักเก็บน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ และมีหน้าที่สำคัญในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่อเนกประสงค์ที่มีทั้งสวน Solar Park ที่มีแผงโซลาร์เซลล์รับพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 400 แผง พิพิธภัณฑ์ให้ความรู้การจัดการน้ำ ศูนย์กิจกรรมทางน้ำ และสวนลอยฟ้าที่เป็นสนามหญ้าขนาดใหญ่อยู่บนชั้นลอยที่ทุกคนสามารถมานั่งเล่นพักผ่อนพร้อมชมวิวสถานที่สำคัญรอบอ่าวมารีน่าเบย์ได้

สิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียวมากมายมหาศาล อันเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้นำที่ต้องการให้สิงคโปร์เป็น “City in a Garden” ด้วยนโยบายต่าง ๆ นี้ น่าจะเป็นแบบอย่างให้เมืองอื่น ๆ ที่สนใจจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองได้ เพราะพื้นที่สีเขียวเปรียบเสมือน “ปอด” ที่ทำหน้าที่บำบัดอากาศเสีย และเปรียบเสมือน “เครื่องปรับอากาศ” ที่ทำหน้าที่ลดความร้อน เมื่อการออกแบบเมืองคำนึงถึงผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก ผลที่เกิดขึ้นก็คือประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การเป็น “เมืองสีเขียว”

ในปี 2559 สิงคโปร์ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองที่เขียวขจีที่สุดในเอเชีย โดย Arcadis Sustainable Cities Index ซึ่งวัดจากความยั่งยืนของเมืองในด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ นี่คือข้อพิสูจน์ถึงความสำเร็จด้านวิสัยทัศน์ของประเทศสิงคโปร์ ที่เรียกว่า “Garden City”

ซึ่งเสนอโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ในปี 2510 เพื่อเปลี่ยนเมืองสิงคโปร์ให้เป็นพื้นที่สีเขียว และยกระดับภาพชีวิตของประชาชนชาวสิงคโปร์ อีกทั้งยังช่วยให้สิงคโปร์เป็นจุดหมายที่ดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวอีกด้วย

เป็นเวลากว่า 50 ปี สิงคโปร์ไม่เพียงปลูกต้นไม้มากขึ้น แต่ยังผุดโครงการมากมาย เช่น การออกมาตรการในปี 2551 สำหรับอาคารก่อสร้างใหม่ จะต้องมีความเป็นอาคารสีเขียว โดยมีข้อกำหนดให้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ต้องมีการออกแบบหลังคาหรือผนังสีเขียว ระบบการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิงคโปร์ให้เป็นเมืองสีเขียวมากขึ้น

นอกเหนือจากอาคารพาณิชย์และอาคารที่พักอาศัยแล้ว สิงคโปร์ยังสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวทั่วทั้งประเทศอีกด้วย หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ พาร์คคอนเน็คเตอร์ (ParkConnector) หรือทางเดินยาว 300 กิโลเมตรที่เชื่อมสวนสาธารณะ และพื้นที่ทางธรรมชาติทั่วทั้งเกาะสิงคโปร์

ทางเชื่อมนี้ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ค้นหาและสนุกสนานไปกับกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ในธรรมชาติ ตั้งแต่การปั่นจักรยาน การวิ่งจ็อกกิ้ง หรือการเดินเพื่อการผ่อนคลาย เป็นต้น อีกหนึ่งตัวอย่างคือสวนริมทะเลสาบขนาดใหญ่การ์เด้น บาย เดอะ เบย์ (Gardens By The Bay) ที่รวมเอาสวนสไตล์ต่างๆ พื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็ก ทางเดินธรรมชาติ และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มารวมกันอยู่บนพื้นที่ 101 เฮกตาร์ (มากกว่า 630 ไร่)

นักท่องเที่ยวอาจจะคุ้นเคยกับฟลาวเวอร์ โดม (Flower Dome) และ คลาวด์ฟอร์เรสโดม (Cloud Forest Dome) แล้ว แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าสถานที่ท่องเที่ยวสองแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์เมืองสีเขียว คือนอกจากจะเป็นโรงเรือนปลูกต้นไม้แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นโรงแสดงดนตรีอีกด้วย

การสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวยังไม่หมดเพียงแค่นี้ ในช่วงวิกฤติโรคโควิด-19 ประเทศสิงคโปร์ได้ประกาศว่าจะมีการพัฒนาใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามันได (Mandai Wildlife Reserve) เปิดแผนปรับปรุง โดยจะรวมสวนสัตว์สิงคโปร์, สวนนก, ไนท์ซาฟารีเข้าด้วยกัน ซึ่งจะมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ โดยเพิ่มความใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น เช่น ห้องพักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ถนนออร์ชาร์ด แหล่งช็อปปิ้งระดับโลกก็มีการปรับปรุงขนานใหญ่เช่นกัน โดยการย้อนอดีตกลับไปเป็นสวนสมุนไพรและสวนผลไม้ โดยจะปลูกต้นไม้ตลอดแนวถนน เพื่อสร้างทางเดินสีเขียวที่จะเชื่อมถนนออร์ชาร์ดกับแม่น้ำสิงคโปร์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในหลายๆ จุด เช่น ทางเดินในร่ม สวนและสนามเด็กเล่นตลอดเส้นทาง

โดยแนวคิด “Garden City” นี้ได้ดำเนินมาอย่างยาวนานตั้งแต่มีการริเริ่มในปี 2510 จนถึงวันนี้ สิงคโปร์ได้พัฒนาไปสู่แนวคิดใหม่ “City in Nature” โดยยังรักษามรดกความเป็นเมืองสีเขียวอยู่พร้อมๆ ไปกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อความยั่งยืนทางธรรมชาติในอนาคต

พลิกโฉมการสร้างพลังงานและแหล่งอาหาร

การสร้างอนาคตที่ยั่งยืน นอกเหนือจากการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ประเทศสิงคโปร์ยังทุ่มเทความพยายามในการหาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อผลิตพลังงานและการบริโภคอาหาร ในปี 2546 สิงคโปร์เปิดตัวโครงการ “NEWater” ได้สำเร็จ

NEWater คือน้ำที่ผ่านการรีไซเคิลที่มีคุณภาพสูง เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรม และการระบายความร้อนเป็นหลัก บางครั้งก็สามารถนำไปใช้ในครัวเรือนได้ด้วย น้ำนี้ผลิตจากโรงบำบัดรีไซเคิล 5 แห่งซึ่งเป็นผลจากแนวคิดริเริ่มในยุคปี 70 ที่จะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้เปิดตัวฟาร์มโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2564 ด้วยขนาดเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 45 สนาม โดยพลังงานที่ผลิตได้จากฟาร์มจะถูกใช้ในการบำบัดน้ำเสียของสิงคโปร์ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ด้วย เนื่องจากการใช้พลังงานจากฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์นี้ เทียบเท่ากับการเอารถยนต์ 7,000 คันออกจากถนนของสิงคโปร์นั่นเอง

ในด้านของการบริโภคทรัพยากรและการค้นหาวิธีการผลิตพลังงานให้มีประสิทธิภาพ สิงคโปร์เริ่มใช้ต้นไม้เทียม ที่เรียกว่า “ซูเปอร์ทรี (Supertrees)” ซึ่งหากดูด้านนอก ก็เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีเฟิร์น เถาวัลย์และกล้วยไม้มาอาศัยล้อมรอบ แต่มันยังมีอะไรมากกว่านั้น นวัตกรรมชิ้นนี้ เป็นการลอกเลียนแบบต้นไม้จริง โดยสามารถดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยให้ต้นไม้ส่องสว่างได้เองเมื่อถึงเวลาของการแสดงโชว์กลางคืน Gardens Rhapsody

นอกเหนือจากการใช้พลังงานทางเลือกแล้ว อนาคตที่ยั่งยืนของสิงคโปร์ยังรวมถึงการบริโภคอาหารอย่างยั่งยืนด้วย ร้านอาหารแนวใหม่มากมาย เช่น “โอเพน ฟาร์ม คอมมูนิตี้ (Open Farm Community)” นำเสนอประสบการณ์การทานอาหารจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางด้านอาหาร โดยแต่ละเมนูได้ผ่านการคัดสรรด้วยความเคารพต่อธรรมชาติ และใช้วัตถุดิบที่ปลูกเองในสวนบริเวณร้าน

เพื่อแสดงถึงความงามของอาหารที่ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบที่ได้รับการดูแลอย่างดียิ่ง ร้านอาหารแห่งนี้ได้พิสูจน์ความสำเร็จด้วยการคว้ารางวัล 2021’s MICHELIN Plate distinction ที่การันตีถึงรสชาติอาหารชั้นเยี่ยม สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า ประเทศสิงคโปร์ยังคงก้าวต่อไปเพื่อนำเสนอทางเลือกใหม่ๆ ในการผลิตพลังงานและอาหารเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก positioningmag , kindconnext

“อินเตอร์คอนติเนนตัล ภูเก็ต รีสอร์ท” จับมือ “ซิกท์ ประเทศไทย” ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภูเก็ต

Previous article

“เล่น” อย่าง “ยั่งยืน” เสริมพัฒนาการ ไม่สร้างขยะ

Next article

You may also like