lgbtq

เพศมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือ? เรียกได้ว่าเกิดเป็นข้อสงสัยกันมาได้พักใหญ่ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับนิสัยของแต่ละคนหรือเปล่า ที่บ้างคนตระหนักรู้ถึงสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าอีกคน การแบ่งแยกเพศว่า เพศไหนรักษ์โลกมากกว่ากัน อาจเป็นสิ่งที่เหมารวมเกินไป

แต่ก็มีข้อมูลในหลายๆ ด้านและการใช้ชีวิต รวมไปแนวโน้มที่คนกลุ่ม LGBTQ+ จะรักษ์โลกมากกว่าเพศอื่นๆ จริงแต่จะเป็นเพราะอะไรลองไปดูพร้อมๆ กัน

ตัวอย่างที่มาการกล่าวขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม และกลุ่มคน

ในการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่จัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน เมื่อปี 2018 Mary Robinson อดีตประธานาธิบดีไอร์แลนด์และข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยหนทางแบบสตรีนิยม กล่าวคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมกระทบความเป็นอยู่ของผู้หญิงโดยตรง จะมากีดกันผู้หญิงออกจากวงสนทนาถือว่าไม่ยุติธรรม จริงๆ แล้วสังคมต้องเรียนรู้วิธีรับมือจากผู้หญิงที่เจอผลกระทบด้วยซ้ำ และต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าร่วมวางแผนเชิงกลยุทธ์การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

กลุ่ม LGBTQ+

ในอเมริกา นอกเหนือจากผู้หญิงแล้ว กลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศก็อินกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมาก ทั้งการดำเนินชีวิตประจำวัน และการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคการเมืองที่มีนโยบายก้าวหน้าและชัดเจนต่อการจัดการและบริหารสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ชาว LGBTQ+ ยังชูประเด็นดังกล่าวในงาน pride เป็นประจำ อย่าง Gilbert Baker ศิลปินชาวอเมริกันผู้ออกแบบธง pride ก็ตั้งใจใช้แถบสีเขียวที่อยู่ตรงกลางเป็นสัญลักษณ์แทน ‘ธรรมชาติ’

การรักเพศเดียวกันเคยถูกตีตราว่าผิดธรรมชาติ สีเขียวตรงกลางธงจึงแสดงความพยายามที่จะรื้อสร้างความคิดความอ่านของคนในสังคมใหม่ว่า LGBTQ+ คือความสวยงามที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ในทางหนึ่ง การต่อสู้เรียกร้องความเสมอภาคทางเพศจึงเป็นสิ่งเดียวกันกับการรณรงค์เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะในฐานะผู้ถูกกดทับ เหล่า LGBTQ+ ได้เรียนรู้ที่จะมองทุกอย่างบนโลกใบนี้ในระนาบเดียวกัน ทุกสิ่งมีเสรีภาพในการดำรงอยู่และแสวงหาความสุขเท่ากัน ไม่ใช่ว่าคนมีสิทธิมากกว่าต้นไม้ แม่น้ำ หรือสรรพสัตว์อื่นๆ

นอกจากนี้ ข้อจำกัดของชีวิตและบริบททางสังคมยังบีบบังคับให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนอื่น เนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศทำให้ LGBTQ+ ขัดแย้งกับครอบครัว บางครั้งเลวร้ายถึงขั้นถูกไล่ออกจากบ้าน พวกเขาต้องเร่ร่อนตามถนนหาที่หลบร้อนหลบหนาว ชีวิตพัวพันและผกผันตามสภาพแวดล้อม เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ LGBTQ+ มักจะเจอผลกระทบยาวนานกว่าและได้รับความช่วยเหลือเป็นลำดับท้ายๆ ด้วยเพราะหนึ่ง–พวกเขาไม่ได้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับครอบครัว และสอง–พวกเขายังเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ อย่างในรัฐที่ไม่อนุญาตให้เพศเดียวกันสมรสกัน พอไม่ได้การรับรองทางกฎหมายก็พลอยไม่ได้รับสิทธิ​ต่างๆ เหมือนกับคู่สมรสของรักต่างเพศ

นิเวศเพศสภาพ

สิ่งเหล่านี้ทำให้ กลุ่ม LGBTQ+ ตื่นตัวอยากได้โลกใบใหม่ที่ดีกว่าเดิม โลกที่ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและปลอดภัย มีการตั้งกลุ่มและองค์กรระหว่างบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น บริการดูแลสุขภาพผู้ติดเชื้อ HIV (Wellness AIDS Services) ในเมืองฟลินต์ รัฐมิชิแกน ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่ได้ให้บริการเรื่องสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังรณรงค์เรื่องความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม และกระจายน้ำดื่มสะอาดปราศจากเชื้อโรคปนเปื้อนให้กับคนในชุมชนอย่างเท่าเทียม

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของชาว LGBTQ+ ที่ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงลำพัง ไม่ได้รวมกลุ่มกับใครให้เห็นอีกมาก เช่น Anohni Hegarty ศิลปินทรานส์เจนเดอร์ที่ปล่อยเพลง ‘4 DEGREES’ จากอัลบั้ม Hopelessness ออกมาวันก่อนที่สหประชาชาติจะจัดประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีส ชื่อเพลงอ้างถึงการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ว่าภายในปี 2100 อุณหภูมิทั่วโลกจะสูงขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียส ซึ่งถ้าเป็นจริง เมืองตามปากแม่น้ำจะจมทะเลถาวร และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวมทั้งหมด

เพศสภาพและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กันเหนียวแน่น สิ่งที่ผู้ชายมองข้ามหรือคิดว่ามีรายละเอียดยิบย่อยปล่อยให้ผู้หญิงจัดการไป กลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้หญิงและ กลุ่ม LGBTQ+ สิ่งจำเป็นเร่งด่วนในตอนนี้จึงเป็นโจทย์ที่ว่า ทำยังไงให้ทุกคนก้าวข้ามเส้นแบ่งนิเวศเพศสภาพ ลบล้างภาพเหมารวมแบบเดิม แล้วสร้างการตระหนักรู้ใหม่ว่าสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องของเธอ เรื่องของพวกเขา

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก assets.ogilvy

ผู้คนหันมารักษ์โลกมากขึ้น ชี้ตลาด Type Eco-Actives กำลังเติบโต

Previous article

ทำความรู้จัก ‘เอสซีจี เคมิคอลส์’ หรือ SCGC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน

Next article

You may also like

More in Life