ปี 2023 ชวนสำรวจ “เทรนด์อาหาร” ของโลก ซึ่งส่งผลถึงอุตสาหกรรมอาหาร และพฤติกรรมผู้บริโภค “แพลนท์เบส” กับ “ชาววีแกน” โตไม่ยั้ง คนกินผักมากขึ้น ดื่มแอลกอฮอล์ลดลง เรารู้กันว่า เทรนด์อาหาร จากปีก่อน เช่น แพลนท์เบส, กระแสวีแกน, อาหารจากแมลง จะยังความนิยมต่อเนื่องมาถึงปี 2023 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมอาหารที่ “ไร้เนื้อสัตว์” เพิ่มขึ้นตามมา

โดยผลสำรวจ Food Trend 2023 จากผู้ที่อยู่ในวงการอาหารในอเมริกา ยืนยันว่า ปี 2023 คือยุคเติบโตของอาหารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ในขณะที่คนทั่วโลกล้วนบาดเจ็บจากสงครามและโควิด จึงโหยหาอาหารรสชาติดั้งเดิม เมนูเก่าก่อนสมัยพ่อแม่ทำให้กิน วิธีปรุงอาหารที่เรียบง่าย จะกลับมาสร้าง เทรนด์อาหารปี 2023

เทรนด์อาหาร 2023

1. เทรนด์โหยหาอดีต (Nostalgic Food)

อาหารที่เคยกินตอนเด็ก รสมือคุณย่าคุณยาย ทำให้เมนูเก่า ๆ กลับมาขึ้นโต๊ะ และดังไปถึงร้านอาหารต่าง ๆ ต้องนำเมนูบ้าน ๆ บรรจุในรายการอาหารไปด้วย ผลจากคนอยู่บ้านนานเกินไปช่วงโควิด + Tik Tok ใครทำอะไรกินที่บ้านก็โพสต์ไป สร้าง แฟชั่นอาหาร ผ่านโลกโซเชียล

เช่น S’mores (มาร์ชเมลโลปิ้งราดช็อกโกแลต อร่อยจนเด็กร้องว่า some more เอาอีก ๆ) อาจไปอยู่ในเมนูอาหารเช้าในหลายร้าน พายแอปเปิ้ล พิซซ่าโทสต์ ทำง่าย เสร็จเร็ว ในขณะที่ซีเรียล (ที่มีแต่แป้งกับน้ำตาล) เทใส่นมอาจจะเลิกฮิต ความที่ขาดคุณค่าสารอาหาร

2. ก็แค่เติมน้ำ

นักวิทยาศาสตร์อาหาร ยังคงทำงานไม่หยุดเพื่อพัฒนารูปแบบอาหารสำหรับโลกใหม่ และที่กำลังมาแรงคือ ผงสำเร็จรูป, ซอส, แผ่น ที่แค่เติมน้ำก็กินได้ และยังคุณค่าสารอาหาร ใช้วิทยาศาสตร์ตอบโจทย์วิถีเร่งรีบ (ที่จะกลับมาหลังโควิดจากไป) ตอบโจทย์โลจิสติกส์ ประหยัดค่าขนส่ง ลดคาร์บอน เช่น ผงนม สาหร่ายอบแห้ง ผงซอสและซุปต่าง ๆ ซอสให้ความหวาน ความเค็ม ฯลฯ ที่ไม่ใช่ของใหม่แต่การพัฒนาใหม่คือ กระบวนการผลิตที่ลดคาร์บอนและเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ

3. ผลผลิตที่เป็นมิตรต่อโลก

คือการปลูก การผลิต การเก็บ การขนส่ง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาศัยวิทยาศาสตร์มาช่วยให้การปลูกใช้น้ำน้อยลง การบำบัดน้ำกลับมาใช้ใหม่ การผลิตที่ลดคาร์บอน เกษตรออร์แกนิค ปศุสัตว์ออร์แกนิค จะขยายตัวทวีคูณ เพราะถ้าไม่ทำก็จะขายไม่ได้

ปี 2021 ประธานาธิบดีไบเดน เพิ่มงบให้องค์การเกษตรของอเมริกา เพื่อสนับสนุนสมาร์ทฟาร์มมิ่งทั่วประเทศ และงานวิจัยการเกษตรเพื่อความยั่งยืน ทำให้น้ำสะอาด ดินสะอาด คนปลูกคนกินก็ปลอดภัย

4. น้ำผึ้ง อัลเทอร์เนทีฟ (Honey Alternative)

จากกระแส ชาววีแกน ที่ไม่กินผลผลิตจากสัตว์ ไม่กินชีส ไม่กินน้ำผึ้ง ไม่ใส่ผ้าไหม ปีที่ผ่านมา อินทผลัม (date) มาแรงในอุตสาหกรรมอาหารในอเมริกา ผลไม้รสหวานจัด ถิ่นกำเนิดจากตะวันออกกลาง กลายเป็น น้ำผึ้ง อัลเทอร์เนทีฟ ทั้งผลสดและตากแห้งเก็บไว้กินได้นาน ๆ

ความหวานแปลงร่างเป็น ไซรัปอินทผลัม, ซอสอินทผลัม, เนื้อสดและแห้ง กินกับซีเรียล ใส่ในสลัด ซุป ทำซอสที่ชาววีแกนกินได้ คนอเมริกันเชื่อว่าจะมาแทน น้ำผึ้ง จากผลกระทบสิ่งแวดล้อมทำให้ผึ้งค่อย ๆ ตายหายไป

5. มะขาม ส่วนผสมแห่งปี

ปีที่แล้ว คนอเมริกันตื่นเต้นกับรสหวานซ่อนเปรี้ยวของ มะขาม จนยกให้เป็น Ingredient of the Year (อย่างที่เคยตื่นเต้นกับมะพร้าว) อะไร ๆ ก็ใส่มะขาม ตั้งแต่อาหารเม็กซิกัน อินเดีย และเอเชีย (ซึ่งก็ใส่กันอยู่แล้ว) แต่ฝรั่งเพิ่งมาตื่นเต้น

เรื่องน่าทึ่งอีกอย่างคือ กูเกิ้ล บันทึกว่าคำว่า “ลูกอมมะขาม” กลายเป็นฮ็อตเสิร์ชในกูเกิ้ล เพิ่มขึ้น 5,000% มะขามเข้มข้นทำอาหาร ของหวาน ค็อกเทล และทำลูกกวาดลูกอม สแน็ค ปี 2023 จึงประเมินว่ามะขามได้ไปต่อ

6. เครื่องดื่มโนแอล ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือเคยมีก็ลดลงเรียกว่า โลว์แอล

บรรดาบาร์เทนเนอร์ต้องฝึกชงค็อกเทลไร้แอล ให้อร่อยจนมีสูตรต่าง ๆ และคำว่า Damp Lifestyle ก็ตามมา หมายถึงคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย ต่อให้ไปปาร์ตี้ปีใหม่ สุดเหวี่ยงแค่ไหนก็โนแอล เหตุผลเพราะห่วงใยสุขภาพตัวเอง

ผู้บริโภคโนแอลจุดกระแสให้เกิดเครื่องดื่มและค็อกเทล เรียกว่า zero-proof cocktails, ABV drinks, non-alcohol beer, alcohol free, free-damm, mind & body wine เป็นต้น แล้วพอใส่แอลกอฮอล์น้อย บวกกับธัญพืชที่เติมลงไปคนดื่มก็รู้สึกว่าดีต่อสุขภาพ

ความนิยมดื่มแบบชาว Damp ทำให้ผลสำรวจเทรนด์อาหารของ Yelp’s 2023 ประเมินหลังสถิติการเข้าถึงเว็บไซต์เครื่องดื่มโนแอล ที่เพิ่มขึ้น 59% ในปีที่ผ่านมา ปีนี้อุตสาหกรรมโนแอล จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2023

เทรนด์อาหาร 2023 ยังเชื่อมโยงกับ ภาวะโลกร้อน ธุรกิจอาหารต้องเติบโตและสวยงามไปกับโลก แคมเปญเรื่อง zero waste, food waste, sustainable จะขยายไปทุกที่บนโลก ไม่เป็นเพียงกระแสแต่กลายเป็นกฎหมายสังคมของโลกไปแล้ว

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก bangkokbiznews

เตรียมตัวให้พร้อม ปี 2023 โลกร้อนกว่าเดิม ส่วน “ลานีญา” ยังไม่จากไปเร็ว

Previous article

ตอกย้ำการดำเนินงาน Café Amazon สะท้อนความยั่งยืน-รักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่าน BCG โมเดล

Next article

You may also like

More in Life