cop26

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ได้ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 13 พ.ย. โดยมีการบรรลุข้อตกลงเพื่อควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการผลักดันให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

อย่างไรก็ตาม ผู้นำและนักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศหลายคนระบุว่า ข้อตกลงนี้ยังไม่มีมาตรการเพียงพอที่จะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้

โดยในนาทีสุดท้ายก่อนหน้าจะมีการบรรลุข้อตกลงนี้ จีนและอินเดียได้ขอให้มีการแก้ไขถ้อยคำในข้อตกลงว่าด้วยการใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากที่สุด จากเดิมคือคำว่า “ยุติการใช้” มาเป็นคำว่า “ลดการใช้” พลังงานถ่านหิน

แม้ว่านายอาล็อก ชาร์มา ประธานการประชุม ระบุว่า การแก้ไขถ้อยคำดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าข้อตกลงนี้ล้มเหลว พร้อมยืนยันว่า “ข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์นี้” จะช่วยให้คงเป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้

อย่างไรก็ตาม นายชาร์มา ได้กล่าวแสดง “ความเสียใจอย่างยิ่ง” ที่ผลการประชุมออกมาในรูปนี้ พร้อมระบุว่า อินเดียและจีนจะต้องอธิบายตัวเองต่อประเทศที่มีความเสี่ยงอันตรายจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงความยินดีกับข้อตกลงนี้ แต่เน้นว่ามันยัง “ไม่เพียงพอ” โดยชี้ว่า “เรายังคงใกล้จะเปิดประตูแห่งภัยพิบัติทางสภาพอากาศ”

COP26 คืออะไร และทำไมจึงมีการประชุมนี้ขึ้น

โลกกำลังร้อนขึ้น เพราะการปล่อยมลพิษของเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และแก๊ส จากการกระทำของมนุษย์

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมีส่วนทำให้เกิดสภาพอากาศรุนแรงต่าง ๆ มากขึ้นทั้งคลื่นความร้อน น้ำท่วม และไฟป่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นช่วงที่อุณหภูมิโลกสูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติไว้ และรัฐบาลต่าง ๆ เห็นตรงกันว่าต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหานี้

COP ย่อมาจาก “Conference of the Parties” หรืออาจแปลได้ว่าการประชุมสมัชชาประเทศ และนี่เป็นการประชุมสุดยอดประจำปีครั้งที่ 26 และในการประชุมครั้งนี้ 200 ประเทศมีพันธสัญญาที่จะต้องยื่นแผนการลดการปล่อยคาร์บอนภายในปี 2030

ภายใต้ข้อตกลงปารีสปี 2015 ประเทศต่าง ๆ ถูกขอให้สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส และให้พยายามตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อที่จะป้องกันหายนะภัยทางด้านสภาพภูมิอากาศ

เป้าหมายคือการตัดลดการปล่อยคาร์บอนจนกระทั่งถึงเป้าหมายเป็นศูนย์ภายในปี 2050

เปิดข้อตกลง COP26

ข้อตกลงนี้ขอให้ประเทศต่าง ๆ ตีพิมพ์แผนปฏิบัติการภายในสิ้นปีหน้า โดยที่มีเป้าหมายสูงขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030

ถ้อยคำในข้อตกลงฉบับนี้ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะต้องเพิ่มเงินช่วยเหลือแก่ประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สูงกว่าเป้าหมายปัจจุบันที่ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยประเทศเหล่านี้ในการปรับตัวและรับมือ

แม้ข้อตกลงนี้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็เป็นการกำหนดแนวทางและเป้าหมายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิในช่วง 10 ปีข้างหน้า

มีการตกลงอะไรกันอีกบ้างในกลาสโกว์

นอกจากร่างข้อตกลงที่ถือเป็นผลลัพธ์สำคัญที่สุดของการประชุม COP ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผู้แทนนานาประเทศและจากทุกภาคส่วนมารวมตัวกัน ยังมีการประกาศหลายเรื่องที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ความร่วมมือของสหรัฐฯ-จีน

หนึ่งในการประกาศที่สร้างความน่าประหลาดใจให้ผู้ติดตามการประชุมลดโลกร้อนคือการที่สหรัฐอเมริการและจีนรับปากว่า จะเพิ่มความร่วมมือด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศระหว่างกันในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยประเด็นที่เห็นชอบร่วมกัน เช่น การปล่อยมีเทน การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด และการลดการปล่อยคาร์บอนลงจนเหลือศูนย์

คำประกาศร่วมระบุว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีนจะ “ยึดมั่นในคำมั่นสัญญาว่าจะทำงานร่วมกัน” เพื่อบรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ที่ตั้งไว้ในข้อตกลงปารีสปี 2015

ในฐานะผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก 2 ประเทศ ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีความสำคัญในการที่จะทำให้เป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเป็นจริงได้

ก่อนหน้านี้จีนลังเลที่จะจัดการกับการปล่อยมลพิษจากถ่านหินในประเทศ ดังนั้นการออกมาประกาศเช่นนี้จึงถูกมองว่า เป็นการยอมรับถึงความความจำเป็นในการดำเนินการอย่างเร่งด่วน

  • ต้นไม้

ผู้นำจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีพื้นที่ป่ารวมกันคิดเป็น 85% ของป่าไม้ในโลก รับปากว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030

คำมั่นสัญญานี้มีความสำคัญเพราะต้นไม้สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์–หนึ่งในก๊าซเรือนกระจำที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน–จำนวนมากมหาศาลไว้ได้ ดังนั้นการยุติการตัดไม้ทำลายป่าจึงเป็นวิธีการสำคัญในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

  • มีเทน

ในที่ประชุม COP26 ผู้แทนจากกว่า 100 ประเทศ เห็นชอบกับโครงการตัดลดการปล่อยมีเทนลง 30% ภายในปี 2030

มีเทนเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่สร้างความเสียหายมากที่สุด ราว 1 ใน 3 ของการกระทำของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนเกี่ยวข้องกับการปล่อยมีเทน ของปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์ มีเทนส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมต่าง ๆ อย่างการทำปศุสัตว์และการกำจัดของเสีย

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซมีเทนรายใหญ่อย่างจีน รัสเซียและอินเดีย ไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้

  • ถ่านหิน

มากกว่า 40 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศที่ใช้ถ่านหินรายใหญ่อย่างโปแลนด์ เวียดนาม และชิลี เห็นชอบที่จะเลิกใช้ถ่านหิน

ถ่านหินเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าในการลดการใช้งานถ่านหิน แต่ถ่านหินก็ยังถูกใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกราว 37% ในปี 2019

  • มาตรการทางการเงิน

สถาบันการเงินราว 450 แห่ง ซึ่งมีการควบคุมเงินราว 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4,259 ล้านล้านบาท) เห็นชอบที่จะสนับสนุน “เทคโนโลยีสะอาด” อย่างพลังงานหมุนเวียน และปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

โครงการนี้เป็นความพยายามในการทำให้บริษัทเอกชนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และทำให้บริษัทเหล่านี้รับปากว่าจะสนับสนุนการเงินในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การชดเชยคาร์บอนช่วยโลกของเราได้หรือไม่

ประเทศต่าง ๆ จะทำตามสัญญาหรือไม่

ส่วนใหญ่แล้ว การให้คำมั่นสัญญาที่เกิดขึ้นในการประชุม COP เป็นเรื่องของความสมัครใจและการกำกับดูแลตัวเอง

มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ไปไกลถึงขั้นให้มีผลผูกพันตามกฎหมาย แต่ก็มีโอกาสที่แรงผลักดันสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเร่งมือทำตามที่ให้คำมั่นสัญญา

โดยหลักการแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะบังคับใช้บทลงโทษต่อประเทศที่ไม่ยอมทำตามคำสัญญา แต่ก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น หรืออาจจะมีหลายประเทศถอนตัวออกจากข้อตกลงระหว่างประเทศได้

ความสำคัญของการประชุมอย่าง COP26 จึงเป็นการพยายามส่งเสริมให้ทุกประเทศเข้าร่วมต่อไป

ติดตามข่าวสารและบทความเกี่ยวกับ The Sustainธุรกิจและความยั่งยืน พลังงาน ภาวะโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ

thesustain.space

Turnoff
นักเขียนอิสระหลากหลายธุรกิจ เขียนคอนเท้นท์ SEO ประสบการณ์มากกว่า 10 ปี turnoffweb.com

“เรากำลังตัดต้นไม้เพื่อปกป้องแหล่งน้ำ” ก่อนจะถึงวันน้ำหมดในเคปทาวน์

Previous article

พลังงานน้ำ พลังงานที่สวยงาม และเป็นหนึ่งในพลังงานที่เหมาะกับไทยมากที่สุด

Next article

You may also like

More in TOP STORIES