รู้จัก Bio Bean เปลี่ยนขยะกากกาแฟให้กลายเป็นพลังงานเชื้อเพลิง

รู้จัก Bio Bean เปลี่ยนขยะกากกาแฟให้กลายเป็นพลังงานเชื้อเพลิง

ในขณะที่คุณและคนทั่วโลกกำลังนั่งจิบกาแฟ ทราบไหมคะว่าในแต่ละปีขยะที่เกิดจากกากเมล็ดกาแฟหลังจากการชงเกิดขึ้นถึงปีละ 200,000 ตัน และเมื่อกากกาแฟเหล่านี้สลายตัวก็จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนตามมา กากกาแฟที่ดูเหมือนไร้คุณค่าเหล่านี้ สามารถทำให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าได้อย่างไรบ้าง เราไปหาคำตอบด้วยกัน

Bio – bean สตาร์ทอัพ(Startup) สัญชาติอังกฤษได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าของขยะจากกากกาแฟให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ระดมทุนกว่า 7 ล้านดอลล่าร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง Shell ในปี  พ.ศ. 2556 โดยเริ่มจากการรีไซเคิลกากกาแฟจากบริษัทต่างๆในลอนดอน ไม่ว่าจะเป็นจาก Costa Coffee, สนามบิน London Stansted และเครือข่าย Rail Rail ของสหราชอาณาจักร โดย Bio-bean สามารถเปลี่ยนกากกาแฟกว่า 7,000 ตัน/ปี ให้กลายเป็น “น้ำมันไบโอดีเซล B20” หรือที่เรียกว่า “B20 Coffee-Bio-Diesel” ได้จนสำเร็จ และได้นำมาเติมรถเมล์ที่ลอนดอนในเวลาต่อมา ซึ่งโดยปกติน้ำมันไบโอดีเซลมักทำมาจากข้าวโพด แต่ก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงแบบชีวภาพเช่นนี้ เพราะการนำข้าวโพดมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นกลับกลายเป็นการแย่งแหล่งอาหารของคน แต่การใช้กากกาแฟที่ชงแล้ว ซึ่งเป็นเหมือนขยะทั่วไป ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กลายเป็นสินค้าที่ใช้งานได้ดีในชีวิตประจำวัน จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มากกว่า

ต่อมา Bio-bean ได้มีการปรับเปลี่ยนการแปรรูปกากกาแฟเพื่อใช้เป็น “เชื้อเพลิงแข็ง” สำหรับครัวเรือนและอุตสาหกรรมทดแทนการใช้ฟืนหรือถ่านหิน เนื่องจากเชื้อเพลิงประเภทนี้เมื่อมีการเผาไหม้เกิดขึ้นจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา สร้างมลพิษทางอากาศและส่งผลเสียหายต่อสุขภาพร่างกายของผู้คนด้วย แต่การหันมาใช้กากกาแฟแทนก็จะสามารถลดการปล่อยมลพิษลงได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับการนำไปฝังกลบ โดยมีการแปรรูปผ่านเครื่องอบแห้งและกระบวนการกรั่นกรองเพิ่มเติมจนกระทั่งสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ประเภทเม็ดพลาสติกชีวมวลและฟืนสำหรับใช้ในเตาผิง ไม่เพียงเท่านั้น Bio-bean ยังผลิตสารสกัดธรรมชาติจากกากกาแฟ ผ่านกระบวนการที่แยกต่างหาก เพื่อใช้สำหรับเป็นพลังงานในหม้อไอน้ำของโรงงานอุตสาหกรรมโรงเรือนเชิงพาณิชย์และใช้ในการปลูกพวกธัญพืชต่างๆได้เกิดผลดีอีกด้วย เนื่องจากว่ากาแฟมีความร้อนสูงกว่าฟืนทั่วไปถึง 20%และมีระยะเวลามอดที่นานกว่าถึง 20% ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างดีเยี่ยม และตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน Bio-bean สามารถที่จะรีไซเคิลกากกาแฟให้กลายเป็นเชื้อเพลิงคุณภาพดีได้มากกว่า 20,000 ตันแล้ว

ถึงแม้ว่า พลังงานเชื้อเพลิงที่เกิดจากการใช้กากกาแฟ จะได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้นในฐานะพลังงานทางเลือก แต่อาจารย์ด้านพลังงานยั่งยืนของ University of Leeds อย่าง Jenny Jones ก็ได้นำเสนอข้อเท็จจริงในอีกมุมมองหนึ่งคือ กากกาแฟรีไซเคิลนั้นมีศักยภาพที่สามารถเป็นเชื้อเพลิงได้ แต่ในเรื่องของการประหยัดคาร์บอนโดยรวมจะต้องได้รับการประเมินและเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นในการจัดการกับกากกาแฟ เช่น การเผาหรือเปลี่ยนเป็นวัสดุคลุมดินสำหรับพืช เนื่องจากว่ากากกาแฟส่วนใหญ่มีกำมะถันและไนโตรเจนสูงกว่าป่าไม้ ซึ่งจะปล่อยก๊าซอันตรายประเภท ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์เมื่อถูกเผา

แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนของ Bio-bean ได้กล่าวว่าเม็ดพลาสติกชีวมวลที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้รับการรับรองจากสำนักงานทะเบียนเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนของอังกฤษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีการระบุว่า ในกาแฟมีการปล่อยอนุภาคที่ต่ำกว่าไม้ส่วนใหญ่อย่างแน่นอน และในอนาคต Bio-bean ยังวางแผนที่จะขยายกิจการนี้ไปยังยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือในอีก 5 ปีข้างหน้าอีกด้วย และถึงแม้ว่า Bio-bean จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เนื่องจากร้านกาแฟและกิจการต่างๆในอังกฤษต้องปิดตัวลง แต่ก็ยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ถึงแม้จะมีการผลิตเชื้อเพลิงจากกากกาแฟในปริมาณที่น้อยลงก็ตาม

นับได้ว่า Bio-bean เป็นอีกหนึ่งบริษัทคนรุ่นใหม่ที่มีความห่วงใยสภาวะแวดล้อมของโลกอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นจากการระดมทุนจนกลายมาเป็นบริษัทที่สามารถแปรสภาพกากกาแฟธรรมดาที่ดูไร้ค่าให้กลายเป็นเชื้อเพลิงพลังงานทางเลือกที่สร้างสรรค์ ที่ไม่เพียงดีต่อโลกแต่ยังดีต่อใจและดีต่อสุขภาพของทุกคนอีกด้วย

 

ติดตามข่าวสารและบทความเกี่ยวกับ The Sustain – ธุรกิจและความยั่งยืน พลังงาน ภาวะโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ

thesustain.space

Turnoff
นักเขียนอิสระหลากหลายธุรกิจ เขียนคอนเท้นท์ SEO ประสบการณ์มากกว่า 10 ปี turnoffweb.com

แนะนำ 4 ร้าน Refill ในกรุงเทพ เน้นเติม ลดขยะ

Previous article

“ซีแพค กรีน โซลูชัน”ชูนวัตกรรมก่อสร้างลบภาพรถโม่ปูน

Next article

You may also like

More in TOP STORIES