บอลโลก

“FIFA World Cup Qatar 2022 จะเป็น บอลโลก ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นกลางทางคาร์บอน” นี่คือคำมั่นสัญญาที่ทางผู้จัดอย่าง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) และ กาตาร์ ให้คำมั่นสัญญากับประชาคมโลกเอาไว้เมื่อ 3 ปีก่อน ในฐานะเจ้าภาพบอลโลกชาติแรกที่มาจากตะวันออกกลาง และเป็นประเทศที่เล็กที่สุดที่เคยจัดบอลโลก

การลงทุนครั้งประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นคำถาม

FIFA ประกาศในรายงานว่า มีการปล่อยคาร์บอนรวม ๆ 3.6 ล้านตัน นับตั้งแต่เริ่มสร้างสนามและสิ่งอำนวยความสะดวกจนจบการแข่งขัน โดยทางผู้จัดจะทำการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

แต่หากลองย้อนดูงบลงทุนที่แต่ละประเทศใช้ในการจัดบอลโลกครั้งก่อน ๆ จะพบแนวโน้มบางอย่างที่น่าสนใจ ปี 2022 ลงทุน 220,000 ล้านเหรียญ (กาตาร์)

จากการรายงานของสื่อหลายสำนัก นี่คือตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังแพงกว่าฟุตบอลโลกปี 2014 ที่บราซิลเกือบ 1400% นั่นหมายความว่าน่าจะมีการก่อสร้าง การขนส่ง และปล่อยมลพิษมหาศาล แถมโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ก็เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี 2010 หลังจากได้สิทธิ์จัดบอลโลก แล้วจึงเพิ่งมาประกาศว่าอยากจะจัดงานแบบเป็นกลางทางคาร์บอนในอีก 10 ปีให้หลัง

ทำให้งานนี้ บรรดาสื่อใหญ่ระดับโลกหลายเจ้า องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ออกมาตั้งคำถามกับกาตาร์เรื่อง Greenwashing หรือการฟอกเขียวให้คนเชื่อว่าการแข่งขันสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าความเป็นจริงเพิ่มอีกหนึ่งเรื่อง

บอลโลก

รักษ์โลก จริงหรือ..?

แม้ว่าทางผู้จัดจะพยายามติดป้ายว่าการแข่งขันครั้งนี้ “เป็นกลางทางคาร์บอน” แต่เอาเข้าจริง ในบรรดาสนามแข่งขันทั้งแปด มีถึง 7 แห่ง ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จากศูนย์ แถมมีระบบปรับอากาศในสนามเสร็จสรรพ และยังต้องสร้างระบบขนส่งทั้งรถไฟใต้ดินและถนน 8 เลนเชื่อมต่อสนาม

ในขณะที่รัสเซีย เจ้าภาพเมื่อ 4 ปีก่อน ก็ยังสร้างสนามใหม่แค่ครึ่งเดียวของทั้งหมดตอนจัดฟุตบอลโลก ยังไม่นับว่าการแข่งขันนี้มีแฟนบอลกว่า 3 ล้านคนที่ต้องเดินทางตลอดการแข่งขัน มีการนำเข้าหญ้าสนามฟุตบอลที่จะต้องเลี้ยงดูด้วยน้ำทะเลกลั่นจืดเป็นหมื่นลิตร ทำให้คำกล่าวอ้างเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนของเจ้าภาพตกอยู่ในคำถาม

Carbon Market Watch (CMW) หน่วยงานไม่แสวงผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมที่จับตาในเรื่องตลาดซื้อขายคาร์บอน จะมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาทำการศึกษาโปรเจ็กต์ฟุตบอลโลก 2022 และออกรายงานชี้ถึงรอยรั่วในคำกล่าวอ้างของผู้จัด

โดยหนึ่งในเจ้าหน้าที่ด้านนโยบายขององค์กรออกมาประกาศว่า “ฟุตบอลโลก ไม่มีทางเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ แม้จะพยายามแค่ไหนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะสูงแบบมีนัยสำคัญอยู่ดี นี่เป็นธรรมชาติของการแข่งขันที่นำพาแฟนกีฬาจากทั่วโลกมาไว้ที่เดียวกัน”

ปล่อยคาร์บอนมากกว่าเดิม หรือไม่..?

ความตลกร้ายอย่างหนึ่งที่ Carbon Market Watch พูดถึงตั้งแต่ในหน้าแรก ๆ ของรายงาน คือการที่ฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งกินเวลาแค่ 45 วัน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 3.6 ล้านตัน มากกว่าบอลโลกครั้งก่อนกว่า 40% ทั้ง ๆ ที่บอกว่าใช้นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่างในการก่อสร้างและการจัดงาน แถมยังมากกว่าที่ประเทศเล็ก ๆ อย่างไอซ์แลนด์ปล่อยออกมาในเวลา 1 ปี (3 ล้านตัน)

บอลโลก

ปัญหาที่ CWM ชี้ให้เห็นคือ ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมไปไกลกว่าเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ผลลัพธ์คือเจ้าภาพก่อมลพิษมากกว่าเดิมมหาศาล แล้วค่อยใช้เงินแก้ปัญหาซื้อคาร์บอนเครดิตตามหลัง ทั้ง ๆ ที่สามารถจัดการแข่งขันได้ยั่งยืนกว่านี้ด้วยการไม่สร้างสนามใหม่จำนวนมากอย่างที่ทำอยู่ หรือกระทั่งว่า FIFA สามารถเลือกเจ้าภาพที่พร้อมกว่านี้ได้ มิหนำซ้ำยังหยิบเอาป้ายความยั่งยืนมาใช้ทำการตลาดอีกต่างหาก

ประเมินผลกระทบต่ำเกินจริง

ความน่ากังวลไม่ได้หยุดอยู่แค่ว่าบอลโลกปีนี้ปล่อยมลพิษมากกว่าเมื่อก่อน เพราะตัวเลขดังกล่าวที่ FIFA ยกมา ดูเหมือนจะน้อยกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ โดย FIFA ระบุในรายงานแสดงผลกระทบของตัวเองว่า ปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกมาในการแข่งขันปริมาณ 3.6 ล้านตัน จะมีการซื้อเครดิตคาร์บอนมาชดเชยทั้งหมด เพื่อให้รวม ๆ แล้วการแข่งขันนี้ปล่อยคาร์บอนสุทธิที่ศูนย์

แต่เมื่อ CMW เข้าไปศึกษาจากหลักฐานที่มีอยู่ ก็ได้พบว่าจริง ๆ แล้ว การแข่งขันครั้งนี้อาจจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 5.2 ล้านตัน ‘สูงกว่าปริมาณที่ผู้จัดจะซื้อเครดิตมาชดเชย’ ส่วน Mike Berners-Lee ผู้เชี่ยวชาญจาก Lancaster University บอกว่า FIFA ประเมินต่ำไปโข เพราะจากการศึกษาเจาะลึกลงไป การแข่งขันอาจปล่อยก๊าซได้มากกว่า 10 ล้านตันเลยทีเดียว

ข้อเท็จจริงตรงนี้ทำให้ Gilles Dufrasne หนึ่งให้ผู้จัดทำรายงานของ CMW ออกมาโจมตี FIFA และผู้จัดว่า “คำมั่นสัญญาเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้นไม่ควรค่าให้เชื่ออย่างเด็ดขาด นี่คือตัวอย่างที่โจ่งแจ้งของการลวงโลกว่ารักษ์โลก (greenwashing)”

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก brandinside asia

AI จำลองเป็นศิลปินชื่อดัง วาดภาพสะท้อนวิกฤตทางสภาพอากาศ

Previous article

คาร์บอนเครดิต คืออะไร

Next article

You may also like

More in Bitesize