ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประเด็น ‘ภาวะโลกร้อน’ เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้นทุกๆ ปี เนื่องจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) เคยคาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2017 – 2021 มีโอกาสที่อุณหภูมิโลกเฉลี่ยทั้งปีจะเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งความเป็นไปได้มีมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์

แต่ล่าสุดจากข้อมูลรายงานคาดการณ์สภาพภูมิอากาศประจำปีของสหราชอาณาจักร (Global Annual to Decadal Climate Update) ในปี 2022 – 2026 รายงานว่า เดิมอุณหภูมิโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 องศาเซลเซียส แต่ในอนาคตมีโอกาสที่อุณหภูมิโลกเฉลี่ยทั้งปีเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ส่วนความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

มากไปกว่านั้น WMO ยังกล่าวเสริมอีกว่า ในปี 2022 – 2026 จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่อุณหภูมิอบอุ่นมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นมากถึง 93 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าตัวเลขอุณหภูมิจากเดิม 1.1 ขึ้นไปเป็น 1.5 องศาเซลเซียส จะเพิ่มขึ้นเพียงแค่หลักทศนิยม แต่ผลกระทบที่ตามมาเรียกได้ว่าสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตทั่วโลกเป็นวงกว้าง

สิ่งที่น่าสนใจคือ อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ตัวเลข ‘1.5’ องศาเซลเซียสส่งผลอะไรกับโลกของเราบ้าง มี 3 ประเด็นหลักดังนี้

1) แนวปะการังจะตายเกือบหมด

อุณหภูมิโลกสูงขึ้น

เมื่ออุณหภูมิโลกร้อนขึ้น สิ่งที่ได้รับผลกระทบคือระบบนิเวศทางธรรมชาติ โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลอย่างแนวปะการังในมหาสมุทรจะตายเกือบหมด 70 – 90 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากพวกมันดูดซับความร้อนจากในทะเล ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา Great Barrier Reef แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดของโลกในประเทศออสเตรเลียอยู่ในภาวะฟอกขาว มีสภาพเสื่อมโทรมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หากอุณหภูมิสูงขึ้น ก็จะส่งผลให้แนวปะการังในท้องทะเลค่อยๆ ตายจากไป รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาปะการังอย่างสัตว์น้ำตัวจิ๋วและสาหร่ายทะเลก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะสูญเสียแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยในการใช้ชีวิต รวมถึงบางชนิดอาจสูญพันธุ์ก็เป็นไปได้

2) พายุหนักจนเป็นเรื่องคุ้นชิน

อุณหภูมิโลกสูงขึ้น

จริงๆ แล้วหากสังเกตสภาพอากาศทั่วโลกในปีนี้ เราจะพบเหตุการณ์พายุฝนตกหนักหรือลมพัดแรงทั้งในและนอกประเทศตามข่าวสารอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการมาของพายุแต่ละทีสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมและคร่าชีวิตนับไม่ถ้วน

นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า สภาพอากาศที่ร้อนทวีคูณส่งเสริมให้เกิดฝนตกและพายุมากกว่าแต่ก่อน รวมถึงมีโอกาสจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรงสูง ซึ่งในอนาคตทุกคนอาจจะมองเรื่องภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในโลกเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้เป็นประจำ

3) น้ำท่วมเมือง เกาะเล็กๆ จมหาย

อุณหภูมิโลกสูงขึ้น

ก่อนหน้านี้พวกเรามักจะได้ยินว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งในแถบขั้วโลกละลายจนเพิ่มระดับน้ำทะเลในมหาสมุทรสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดอุณหภูมิสูงแตะ 1.5 องศาเซลเซียส ยิ่งส่งผลให้น้ำแข็งละลายหนักมากกว่าแต่ก่อน และระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มขึ้น 1 – 3 ฟุตภายในปี 2100

ปริมาณน้ำในทะเลสูงทำให้เกิดพายุคลื่นน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อคนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลจะได้รับผลกระทบตามมา เช่น บ้านเรือนเสียหายหรือการเอาตัวรอดจากคลื่นน้ำ ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ ในท้องทะเลก็มีโอกาสที่จะถูกจมหายไป

นอกจากนี้ อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นยังทำให้บางพื้นที่ในโซนตะวันออกกลางและแอฟริกาประสบความแห้งแล้งมากกว่าอดีต เช่น ระบบนิเวศทางธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์ตายจาก คนไม่สามารถทำอาหารหรือใช้ชีวิตเหมือนแต่ก่อน เกิดปัญหาความอดอยากและความยากจนตามมา

ก้าวต่อไปของโลก

สำหรับแนวทางต่อไปในระดับโลก จากการประชุม COP27 การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปลายปี 2022 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายสำคัญในการหาแนวทางเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมมือลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง

เพราะเห็นว่าอุณหภูมิมีแต่เพิ่มขึ้นมากกว่าลดลง จึงทำให้การประชุมทำข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดกองทุนเพื่อชดเชย ‘ความสูญเสียและเสียหาย’ (Loss and Damage) ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ยิ่งไปกว่านั้นยังให้ความสำคัญกับการระดมเงินทุน เพื่อสนับสนุนประเทศที่ยากจนในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น และเน้นย้ำการลดใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินและฟอสซิลมากยิ่งขึ้น เพราะต้องการควบคุมระดับอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และพยายามรักษาอุณหภูมิทั่วโลกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสอีกด้วย

สุดท้ายนี้ ประเด็นภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องใหญ่ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ ปัจจุบันมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะตัวเลขของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ที่คอยเตือนใจให้ทุกคนต้องตระหนักเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลายลงมากกว่าเดิม

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก urbancreature

BMA Feeder รถ Shuttle Bus EV นำส่งผู้โดยสารสู่ระบบขนส่งมวลชน (ราง)

Previous article

ฟาร์มแมลงใหญ่สุดในโลกที่ฝรั่งเศส ผลิตโปรตีนทดแทนเนื้อ รวมถึงทำปุ๋ย ลดการปล่อยคาร์บอน

Next article

You may also like

More in Bitesize