“ฮายาโอะ มิยาซากิ” (Hayao Miyazaki) ตำนานและจิตวิญญาณแห่ง Studio Ghibli ที่ทำให้การ รักษ์โลก กลายเป็นเรื่องง่าย…

หลากหลายผลงานภาพยนตร์แอนิเมชันสัญชาติญี่ปุ่นที่กวาดทั้งเงินและกล่อง รวมถึงได้รับการคารวะในระดับนานาชาติ จากการเน้นพูดเรื่อง “ประเด็นรักษ์โลกเป็นเสียงหลัก” แม้นว่า ผู้กำกับที่ยืนตระหง่านอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์แอนิเมชันเหล่านั้นจะยืนยันว่า “ผมไม่ใช่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ก็ตาม…ชายผู้นี้มีชื่อว่า “ฮายาโอะ มิยาซากิ” (Hayao Miyazaki) บุรุษผู้เป็นตำนานและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “สตูดิโอจิบลิ” (Studio Ghibli) สตูดิโออันเป็นที่รักยิ่งของใครหลายๆ คน

“ฮายาโอะ มิยาซากิ” (Hayao Miyazaki) ตำนานแห่ง “สตูดิโอจิบลิ” (Studio Ghibli)

“ฮายาโอะ มิยาซากิ” คือหนึ่งใน “Animator” ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก จนกระทั่งถูกเรียกขานในโลกตะวันตกว่า “วอลท์ ดิสนีย์แห่งญี่ปุ่น” นอกจากนี้ แม้กระทั่ง “จอห์น ลาสเซเทอร์” (John Lasseter) อดีตจิตวิญญาณแห่งความสร้างสรรค์ของ “ดิสนีย์พิกซาร์ แอนิเมชัน สตูดิโอ” (Disney Pixar Animation Studio) ในฐานะผู้แนะนำให้โลกตะวันตกได้รู้จัก กับ ชายวัย 82 ปี ซึ่งปัจจุบันได้ประกาศเกษียณจากงานที่ตัวเองทั้งลุ่มหลงและยึดมั่นว่า “การสร้างงานแอนิเมชัน จะต้องทำจากจิตวิญญาณและวาดด้วยมือ” ได้ให้ “คำนิยม” ถึงชายผู้นี้เอาไว้ว่า…

“ผมรักภาพยนตร์ของเขา (ฮายาโอะ มิยาซากิ) ผมเรียนรู้ภาพยนตร์ของเขา และผมจะดูภาพยนตร์ของเขาเสมอในยามที่ขาดแคลนแรงบันดาลใจ และเขาคือหนึ่งในผู้สร้างภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา”

อะไรคือ ภาพยนตร์แอนิเมชัน รักษ์โลก ในแบบฉบับ “ฮายาโอะ มิยาซากิ”

“มนุษย์มีทั้งความปรารถนาที่จะสรรค์สร้างและทำลายล้าง” ฮายาโอะ มิยาซากิ

“ฮายาโอะ มิยาซากิ” ยืนกรานอยู่เสมอว่าเขาไม่ใช่นักอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่เป็นเพียงผู้ที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ และด้วยอาจจะเป็นเพราะ “หลักคิด” เช่นนี้ ผลงานภาพยนตร์แอนิเมชันของเขา จึงถูกตีความว่าได้รับอิทธิพลมาจาก “ศาสนาชินโต” (Shintoism) ซึ่งเป็นระบบความเชื่อพื้นฐานของสังคมญี่ปุ่น

โดยแนวความคิดของศาสนาชินโต จะให้ความสำคัญกับเทพเจ้า หรือ “คะมิ” (Kami) ที่สิงสถิติอยู่ในทุกสรรพสิ่งของธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ แม่น้ำ หรือ ทะเล ทำให้ทัศนคติของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อธรรมชาติจะเป็นไปในลักษณะ 1.ธรรมชาติเป็นเพื่อนของมนุษย์ ไม่ใช่ทาสรับใช้ 2.มนุษย์และธรรมชาติไม่ได้มีรากฐานที่แตกต่างกัน 3.ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาตินั้นสอดประสานกลมกลืนและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

นอกจากนี้ หนึ่งในแนวคิดของศาสนาชินโต ยังมีประเด็นเรื่อง “แนวคิดสิ่งดีและสิ่งร้าย” เพราะศาสนาชินโตเชื่อในมนุษย์ว่า โดยธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ดีและบริสุทธิ์ สิ่งชั่วร้ายเกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ซึ่งสิ่งดีและสิ่งร้ายจะร่วมมือกันเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาขึ้น เพราะความชั่วร้ายจะกระตุ้นให้เกิดสิ่งดี และความชั่วจะถูกกำจัดในไม่ช้าและโลกที่สับสนจะกลับคืนสู่ความสงบสุขและถูกต้องอีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้ “ผลงานภาพยนตร์แอนิเมชัน” ในแบบฉบับของ “ฮายาโอะ มิยาซากิ” นอกจากเต็มไปด้วย จินตนาการ ความแฟนตาซี และเคลือบแฝงไปด้วยปรัชญาที่เน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของผู้คนต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การแสวงหาความเชื่อมโยงและสร้างสมดุลให้กับชีวิตแล้ว

สายตาของผู้ชมมักจะได้พบกับทิวทัศน์อันเขียวขจีและธรรมชาติอันแสนงดงามอยู่เสมอๆ ซึ่ง “แตกต่าง” จากแนวทางของสตูดิโอแอนิเมชันอื่นๆ ที่มักมองว่าการพูดประเด็นเรื่องปรัชญาชีวิต ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติผ่านแอนิเมชัน นั้น เป็นเรื่องที่น่าเบื่อและน่าจะเข้าใจยากสำหรับกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ “เด็กๆ” อย่างเห็นได้ชัด

ขณะเดียวกัน “ความสมดุล” ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ของ “ฮายาโอะ มิยาซากิ” ยังถูกฉายภาพอย่างจริงจังในชีวิตประจำวันด้วย ไล่เรียงตั้งแต่ การขับรถยนต์ Citrien CV อันแสนมินิมอล รวมถึงการจงใจทำสถานที่จอดรถที่ “สตูดิโอจิบลิ” ให้มีขนาดเล็ก ซึ่งแตกต่างจากที่จอดรถจักรยานมีความโดดเด่นและสามารถสังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัด อีกทั้งยังมีพื้นที่สีเขียวอันร่มรื่นขนาดใหญ่อยู่ภายในอาคารอีกด้วย

ฮายาโอะ มิยาซากิ กับ สูตรสำเร็จเฉพาะตัว

รักษ์โลก กลายเป็นเรื่องง่าย Hayao Miyazaki ตำนานจิตวิญญาณ Ghibli

หลังจากปล่อยผลงานที่ถ่ายทอดแนวคิดมนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติผ่านการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันละกัน ในภาพยนตร์แอนิเมชันหลายต่อหลายเรื่องซึ่งเขาเป็นผู้กำกับ จนประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นโดยเฉพาะภาพยนตร์ “Spirited Away” (ปี2001) ที่นอกจากจะกวาดเงินทั่วโลกได้มากถึง 357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12,566 ล้านบาท) แล้ว “ฮายาโอะ มิยาซากิ” ยังสามารถก้าวเท้าขึ้นไปรับรางวัลอันเกริกเกียรติ อย่าง “ออสการ์” ในสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมในปี 2001 ด้วย!

แล้วอะไร คือ… “สูตรสำเร็จ” อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ “ฮายาโอะ มิยาซากิ” ที่ส่งให้ชายจากประเทศญี่ปุ่นผู้นี้ กลายเป็นหนึ่งใน “Animator” ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกบ้าง?

นักวิจารณ์ภาพยนตร์ส่วนใหญ่มองว่า “องค์ประกอบสำคัญ” ในภาพยนตร์ของ “ฮายาโอะ มิยาซากิ” ทุกเรื่องนั้นมีอยู่ด้วยกัน 6 องค์ประกอบใหญ่ๆ คือ 1.ตำนานพื้นบ้านที่เชื่อมโยงถึงเทพเจ้า ตามความเชื่อศาสนาชินโต 2.โลกแฟนตาซี 3.เนื้อเรื่องที่คาดเดาตอนจบได้ยาก 4.ความขัดแย้ง 5.คาแรกเตอร์นำเป็นเด็กผู้หญิง 6.แฝงปรัชญาการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า

และ… “เทพเจ้า” หรือ Kami นี้เอง ที่มักกลายเป็นการปรุงรสที่ “กลมกล่อม” ให้ แอนิเมชันที่พูดเรื่องยากๆ และน่าเบื่ออย่างการพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและปรัชญาต่างๆ สามารถเข้าถึง “กลุ่มเด็กๆ” ได้อย่างง่ายดาย แถมยังขยายขอบเขตออกไปจนถึง “กลุ่มผู้ใหญ่” ได้อีกด้วย

และนี่…คือเหล่า “Kami” ที่ยึดโยง กับ ความหมายของคำว่า “ความสมดุลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ” ซึ่งยังเป็นที่จดจำของเหล่าสาวก “ฮายาโอะ มิยาซากิ” มาจนถึงทุกวันนี้

1.โทโทโร (Totoro) : จากภาพยนตร์เรื่อง “My Neighbor Totoro” (ปี 1988) ทำรายได้รวมทั่วโลก 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1,076 ล้านบาท

“โทโทโร” คือ เทพผู้พิทักษ์ป่าตัวกลมแสนน่ารัก ที่ออกมาช่วย “เด็กสาว” ตามหาน้อง โดย “โทโทโร” ถูกตีความว่าเป็นความพยายามสื่อถึง “ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล”   

2.เทพหมาป่าโมโร (Moro no Kami) : จากภาพยนตร์เรื่อง “Princess Mononoke” (ปี 1997) ทำรายได้รวมทั่วโลก 169 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 5,982 ล้านบาท

รักษ์โลก กลายเป็นเรื่องง่าย Hayao Miyazaki ตำนานจิตวิญญาณ Ghibli

“เทพหมาป่าโมโร” คือ เทพหมาป่าเพศเมียอายุนับร้อยปี ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าของเทพแห่งพงไพร โดยมีทั้งสติปัญญาอันเฉลียวฉลาดและความสามารถในการต่อสู้ โดยเทพหมาป่าโมโร เกลียดชังมนุษย์มากเนื่องจากชอบแอบลักลอบเข้ามาตัดไม้ทำลายป่าของเทพแห่งพงไพร โดย “เทพหมาป่าโมโร” ถูกตีความว่าเป็นความพยายามสื่อถึง “ธรรมชาติที่กำลังตอบโต้การรุกรานของมนุษย์”

3. ชิชิกามิ (Shishigami) เทพแห่งพงไพร จากภาพยนตร์เรื่อง “Princess Mononoke” (ปี 1997)

“เทพแห่งพงไพร” คือ เทพดึกดำบรรพ์ที่คอยรักษาสมดุลของธรรมชาติป่า ซึ่งมีทั้งพลังที่จะมอบชีวิตให้กับสรรพสิ่งแต่ในขณะเดียวกันก็สามารถมอบความตายให้ได้ด้วยเช่นกัน โดย “ชิชิกามิ” ถูกตีความว่าเป็นความพยายามสื่อถึง “ความเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายธรรมชาติ”

4.โคดามะ (Kodama) จากภาพยนตร์เรื่อง “Princess Mononoke” (ปี 1997)

“โคดามะ” คือ จิตวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในต้นไม้ และจะปรากฏให้เห็นเฉพาะในป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น โดย “โคดามะ” ถูกตีความว่าเป็นความพยายามสื่อถึง “สัญลักษณ์แห่งพลังชีวิตของป่าไม้” 

5.ภูตเหม็นฉึ่ง (Stinky spirit) จากภาพยนตร์เรื่อง “Spirited Away” (ปี 2001) ทำรายได้รวมทั่วโลก 357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 12,574 ล้านบาท!

“ภูตเหม็นฉึ่ง” หรือ “เทพแห่งความเหม็น” จริงๆ แล้ว คือ “เทพแห่งแม่น้ำ” แต่เนื่องจากถูกมนุษย์ทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำจำนวนมากจึงทำให้ร่างกายเกิดเน่าเหม็นจนกระทั่งกลายเป็น ภูตเหม็นฉึ่ง ไปในที่สุด โดย “เทพแห่งความเหม็น” ถูกตีความว่าเป็นความพยายามสื่อถึง “ธรรมชาติที่ถูกมนุษย์ทำลาย”

“ในอดีตมนุษย์มักลังเลใจเมื่อต้องพรากชีวิต หรือแม้แต่ชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน และผู้คนไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นอีกต่อไป เมื่อมนุษย์แข็งแกร่งขึ้น ผมคิดว่าเราหยิ่งผยอง และสูญสิ้นความเศร้าโศกที่ว่า เราไม่มีทางเลือกอื่น ผมคิดว่าโดยเนื้อแท้ของอารยธรรมมนุษย์ เรามีแรงปรารถนาถึงความร่ำรวยแบบไร้ขีดจำกัด ด้วยการพรากชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่น”

และนี่คือ…คำพูดที่น่า “จดจำ” อีกประโยคของ ชายที่ “เรา” พูดถึงเขาในวันนี้ “ฮายาโอะ มิยาซากิ”

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก thairath

“CPAC Green Solution” ยกนวัตกรรมรักษ์โลก ตอบโจทย์เรื่องบ้านแบบครบวงจร

Previous article

พลังงานทดแทนอะไร ที่มีต้นทุนถูกที่สุด

Next article

You may also like