มีดีก็ต้องโชว์ บริษัทยักษ์ใหญ่ Puma เตรียมวางขายรองเท้ารุ่นใหม่ ทำจากวัสดุธรรมชาติ ง่ายต่อการย่อยสลาย ใส่เบื่อเมื่อไหร่ไม่ต้องทิ้ง ให้ส่งคืน Puma พร้อมนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักต่อไป

เทรนด์ความยั่งยืนลามไปธุรกิจขายรองเท้าแล้ว เมื่อแบรนด์รองเท้ากีฬายอดฮิตติดตลาดอย่าง Puma ได้ออกมาเผยโฉมรองเท้ารุ่นใหม่ ที่มีดีไซน์สวยงาม หนังกลับ แถมเคลมว่ารองเท้าทั้งคู่สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักได้ เรื่องมันเป็นยังไงกันแน่ล่ะเนี่ย

Puma เผยว่า ช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ซุ่มพัฒนา รองเท้าย่อยสลายได้ ภายใต้โปรเจกต์ Re: Suede วัสดุของรองเท้ารุ่นนี้ถูกแปรรูปมาจากวัสดุจากธรรมชาติ บริษัท Puma มั่นใจอย่างยิ่งว่า โปรเจกต์การพัฒนารองเท้าย่อยสลายได้ในครั้งนี้ “ประสบความสำเร็จ”

เท้าความกันสักเล็กน้อยว่า ในปี 2012 บริษัท Puma เคยมีความพยายามในการสร้างรองเท้าแบบย่อยสลายได้มาแล้ว 1 ครั้ง ภายใต้โปรเจกต์ InCycle โดยใช้ชื่อรุ่นว่า Basket

รองเท้าย่อยสลายได้ รุ่น Basket ใหม่ล่าสุด จาก Puma ส่งเข้าประกวด

สำหรับรองเท้ารุ่นนี้ Puma ได้กล่าวว่าเป็นรองเท้าที่สามารถย่อยสลายได้สมบูรณ์ด้วยวิธีการหมักทางอุตสาหกรรม ทว่า ผู้บริโภคไม่ซื้อไอเดียนี้ จึงได้ล้มเลิกโปรเจกต์ดังกล่าวไป

จนกระทั่งล่าสุด Puma ได้เริ่มโปรเจกต์อีกครั้งชื่อว่า Re: Suede บริษัท Puma ได้ผลิตรองเท้าที่เคลมว่าเป็น ‘biodegradable’ หรือ ‘รองเท้าย่อยสลายได้’

ภายนอกตัวรองเท้าทำจากหนังกลับ Zeology ซึ่งผ่านกระบวนการฟอกโดยใช้แร่ธาติซีโอไลต์ ไม่มีโครเนียม อัลดีไฮด์ และโลหะหนัก บุนวม-เชือกรองเท้า ทำมาจากป่าน ส่วนด้านในของรองเท้าทำมาจากผ้าฝ้ายผสมกับป่าน

แผนการดำเนินงานของ Puma คือ ทดลองส่งรองเท้าจำนวน 500 คู่ ให้ผู้ร่วมทดสอบทดลองสวมรุ่นนี้เป็นเวลา 6 เดือน

รองเท้าย่อยสลายได้ รุ่น Basket ใหม่ล่าสุด จาก Puma ส่งเข้าประกวด

จากนั้นให้ผู้ร่วมทดลองส่งรองเท้ากลับคืนมาที่ Puma เพื่อเก็บข้อมูลเรื่องความพึงพอใจ และส่งต่อไปยังโรงงานหมักปุ๋ยอุตสาหกรรมในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่ง Puma ระบุว่า รองเท้ารุ่นนี้ในฐานะขยะ ถูกนำไปรวมกับขยะสีเขียว

หลายคนอาจสงสัยว่า Puma มีบริษัทกำจัดขยะของตัวเองหรือเปล่า คำตอบคือไม่ Puma ใช้ outsource จากบริษัทกำจัดขยะที่ชื่อว่า Ortesessa จากเนเธอร์แลนด์

เมื่อผ่านไป 3 เดือน รองเท้าส่วนใหญ่ก็ย่อยสลายลงมากพอที่จะนำไปขายในฐานะปุ๋ยหมักเกรด A ได้ในประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมย้ำอีกว่าปุ๋ยหมักคุณภาพสูงมากเพียงพอ และสามารถใช้สวนได้

สิ่งที่ย่อยยสลายได้ช้าที่สุดในรองเท้ารุ่นนี้ของ Puma คือ เทอร์โมพลาสติกอีล่าโตเมอร์ (TPE-E) ซึ่งเป็นยางชนิดหนึ่ง วัสดุชิ้นนี้ใช้เวลานานกว่าส่วนอื่น ๆ ของรองเท้าในการแตกตัวออก และพอที่จะนำไปเป็นปุ๋ยหมักได้ ใช้เวลาทั้งหมดราว 6 เดือน

Puma นับว่าโปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จ แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องพื้นยางที่ย่อยสลายช้า จนรองเท้ารุ่นนี้ไม่สามารถนำไปกองรวมกับเศษขยะอาหารจากครัวเรือนได้ เพราะไม่เป็นไปตามมาตรฐานสำหรับการทำปุ๋ยหมักทางอุตสาหกรรม

“เราเข้าใจดีว่ารองเท้าของเรายังไม่ตอบโจทย์ตามมาตรฐานของสำหรับการหมักทางอุตสาหกรรม แต่เรามั่นใจว่ายังไงรองเท้ารุ่นนี้ก็จะกลายเป็นปุ๋ยหมักอยู่ดี” Anne-Laure Descours หัวหน้าฝ่ายจัดหาบริษัท Puma กล่าว

“เราจะเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรของบริษัทต่อไป เพื่อกำหนดโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์สำหรับรองเท้าในโปรเจกต์ Re: Suede”

อย่างไรก็ตาม Puma เตรียมวางขายรองเท้ารุ่นนี้ในปีหน้า ให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของรองเท้ารักษ์โลกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเรื่องสี และราคาออกมา ถือเป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับการใช้ชีวิตแบบยั่งยืน และเป็นเรื่องดี ๆ ที่ธุรกิจรองเท้าหันมาใส่ใจเรื่องวัสดุจากธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก springnews

เอลนีโญ ตัวการสำคัญ ทำทั่วโลกปีนี้เผชิญกับ ‘ฤดูหนาวที่ร้อนที่สุด’

Previous article

เคยคิดไหม ต้นคริสต์มาส ของจริง กับ ของปลอม แบบไหนรักษ์โลกมากกว่ากัน?

Next article

You may also like

More in Innovation