ภาวะโลกร้อน กำลังกดดันให้ประชากรมากกว่า 1 ใน 5 ของโลกต้องย้ายออกจากภูมิอากาศจำเพาะ หรือภูมิอากาศที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มากที่สุด ภายในปี 2100

จากการคาดการณ์ของงานวิจัยล่าสุด ระบุว่า หากอุณหภูมิยังคงเพิ่มสูงขึ้น ในทศวรรษต่อๆ ไป จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของโลก หากผู้กำหนดนโยบายไม่ดำเนินการอย่างเด็ดขาด เรื่องการลดผลกระทบจากความร้อนระดับอันตราย

ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ผู้คนเกือบ 2,000 ล้านคนอาจมีชีวิตอยู่กับอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีที่ร้อนกว่า 29 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิสูงสุดต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีต

หากยังคงดำเนินตามนโยบายอย่างปัจจุบัน อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 2.7 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ แต่ถ้าทั้งโลกทำตามเป้าหมายของสหประชาชาติ (UN) จะทำให้อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียส และสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มากกว่า 1,500 ล้านคน หรือประมาณ 4.4 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลก ภายในปี 2070

ทิม เลนตัน (Tim Lenton) ผู้เขียนงานวิจัยและผู้อำนวยการสถาบัน Global Systems แห่งมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ (University of Exeter) กล่าวถึงงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Sustainability ว่า การศึกษาของเราเน้นย้ำให้เห็นถึงต้นทุนของมนุษย์ที่ไม่อาจรับมือกับเหตุฉุกเฉินด้านสภาพอากาศได้ โดยทุกๆ 0.1°C ของอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเหนือกว่าระดับปัจจุบัน ผู้คนอีกประมาณ 140 ล้านคนจะต้องเผชิญกับความร้อนระดับอันตราย สิ่งนี้เผยให้เห็นทั้งขนาดของปัญหาและความสำคัญของการดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน

ภาวะโลกร้อน ประเทศเสี่ยงร้อนอันตรายที่สุดภายในปี 2070

ภาวะโลกร้อน ปี 2070 มีประเทศอะไรบ้างที่เสี่ยงร้อนระดับวิกฤติในอนาคต

อินเดีย ไนจีเรีย และอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ประชากรเสี่ยงมากที่สุด หากอุณหภูมิสูงขึ้น โดยจากข้อมูลงานวิจัย ระบุจำนวนประชากรที่ต้องเผชิญกับความร้อนในระดับอันตรายภายในปี 2070 ได้แก่ อินเดีย 617.7 ล้านคน, ไนจีเรีย 323.4 ล้านคน, อินโดนีเซีย 95.2 ล้านคน, ฟิลิปปินส์ 85.6 ล้านคน, ปากีสถาน 84.1 ล้านคน, ซูดาน 79.5 ล้านคน, ไนเจอร์ 72 ล้านคน, ไทย 54.1 ล้านคน, ซาอุดีอาระเบีย 48.9 ล้านคนและบูร์กินาฟาโซ 47.2 ล้านคน

นอกจากนี้ ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มของอุณหภูมิมากที่สุดตามสัดส่วนของพื้นแผ่นดิน พบว่า บูร์กินาฟาโซ มาลี และกาตาร์ จะเผชิญกับผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากความร้อนจัด และไม่มีพื้นที่ส่วนใดในดินแดนของประเทศเหล่านี้จะมีอุณหภูมิที่ปลอดภัย

ในทางที่ดี หากโลกยังคงยึดมั่นในเป้าหมายด้านสภาพอากาศที่เข้มงวดมากขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ เช่น ในฟิลิปปินส์ มีประชากร 86 ล้านคนจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ร้อนมากขึ้น ซึ่งหากทั่วโลกปฏิบัติตามเป้าหมายของสหประชาชาติ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะลดลงเหลือเพียง 186,000 คน

ชือ ซวี (Chi Xu) นักนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยหนานจิง (Nanjing University) หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัย ให้ข้อมูลอีกว่า อุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงกว่า 28.89 องศาเซลเซียส มีความเกี่ยวข้องกับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ศักยภาพแรงงานลดลง การตั้งครรภ์ที่อันตรายมากขึ้น ผลผลิตพืชผลลดลง รวมถึงความขัดแย้งและโรคภัยไข้เจ็บที่เพิ่มมากขึ้น

ความหนาแน่นของประชากรมนุษย์ในอดีตจะกระจุกตัวกันบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงสุด 2 จุด จุดแรกมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีประมาณ 55 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 12.78 องศาเซลเซียส และอีกจุดหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 81 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 27.22 องศาเซลเซียส ซึ่งระดับความร้อนที่เร่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะกลายเป็นอันตราย

คณะผู้เขียนงานวิจัย กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ส่วนใหญ่การคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนมักเน้นผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น และให้ความสำคัญกับประชากรจากประเทศร่ำรวยมากกว่า แต่คณะผู้เขียนงานวิจัยต้องการให้สนใจเกี่ยวกับผลกระทบของมนุษย์จากภาวะโลกร้อนมากขึ้น

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก plus.thairath

ขยะในประเทศไทย มีอะไรบ้าง

Previous article

เนื้อย่างจานนี้มีที่มาจากไหน? รู้จัก Sustainable Sourcing เทรนด์สิ่งแวดล้อมโลกที่กำลังมา

Next article

You may also like

More in Life