รายงานกรีนพีซเปิดเผยว่า พลาสติกถูก รีไซเคิล น้อย ต้องส่งเสริมการใช้ซ้ำแทนการรีไซเคิล

กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงาน ‘ข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนล้มไม่เป็นท่าอีกหน’ (Circular Claims Fall Flat Again)’ ที่พบว่า มีขยะพลาสติกเพียง 2.4 ล้านตัน จากทั้งหมด 51 ล้านตัน เท่านั้น ที่ถูกนำไปรีไซเคิล และจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์

อัตราการรีไซเคิลพลาสติกลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากในปี 2014 ซึ่งถือว่าสัดส่วนการรีไซเคิลขยะพลาสติกสูงสุดอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ การรีไซเคิลก็ค่อยๆ ลดลง โดยเฉพาะหลังจากที่จีนหยุดรับขยะพลาสติกในปี 2018

ขณะเดียวกัน การผลิตพลาสติกชนิดที่รีไซเคิลไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกันกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีต้นทุนต่ำลง

แม้กลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัทใหญ่ๆ ได้ผลักดันให้การรีไซเคิลเป็นทางออก แต่ ลิซ่า แรมสเดน (Lisa Ramsden) ฝ่ายรณรงค์กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า บริษัทเหล่านี้ไม่รับประกันว่าการรีไซเคิลเป็นไปได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็น โคคา-โคล่า เป๊ปซี่ ยูนิลีเวอร์ และเนสท์เล่

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ชี้ว่า โรงงานรีไซเคิลส่วนใหญ่ไม่รับพลาสติก 5 ประเภทจากทั้งหมด 7 ประเภท เพราะว่าแยกประเภทยาก และมักปนเปื้อนสารพิษ

จากการสำรวจของกรีนพีซที่เผยแพร่รายงานเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2022 มีพลาสติกเพียง 2 ประเภท ที่โรงงานรีไซเคิลกว่า 375 แห่งในสหรัฐอเมริกายอมรับ ประเภทแรกคือ พลาสติกโพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท (polyethylene terephthalate) หรือที่รู้จักกันว่า PET ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นขวดน้ำดื่ม และประเภทที่สอง โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (high-density polyethylene) หรือ HDPE ในรูปขวดนม แชมพู และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ

ทั้งนี้พลาสติก PET และ HDPE เข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ในอัตรา 21 เปอร์เซ็นต์และ 10 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ลดลงเล็กน้อยจากการสำรวจของกรีนพีซ สหรัฐอเมริกา ในปี 2020 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นพลาสติกประเภทเดียวกัน แต่ว่าไม่สามารถรีไซเคิลด้วยกันได้ เช่น ขวด PET ที่ย้อมสีเขียวไม่สามารถรีไซเคิลพร้อมกับขวดใสได้

ส่วนพลาสติกประเภทอื่นๆ ใน 7 ประเภทนอกเหนือจาก PET และ HDPE ซึ่งใช้ในของเล่นเด็ก พลาสติกห่ออาหาร แก้วโยเกิร์ต เนย แก้วกาแฟ และกล่องพลาสติกใส่อาหารแบบซื้อกลับ ถูกนำมารีไซเคิลน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์

รีไซเคิล

รายงานระบุถึง 5 เหตุผลที่ทำให้การ รีไซเคิล พลาสติกล้มเหลว

1. เป็นเพราะขยะพลาสติกมีปริมาณมหาศาล และเก็บรวบรวมได้ยากมาก

2. การแยกประเภทขยะพลาสติกนับล้านล้านชิ้นในแต่ละปีเป็นเรื่องยากมาก พลาสติกต่างประเภทก็ใช้วิธีจัดการแตกต่างกัน

3. กระบวนการรีไซเคิลเองเป็นอันตรายในตัวมันเอง คนงานได้รับสารพิษ และมันยังสร้างไมโครพลาสติกอีกด้วย

4. พลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิลมีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนจากการที่มีพลาสติกหลายชนิดปะปนกัน ทำให้ไม่สามารถนำมาบรรจุอาหารได้อีก

5. เพราะกระบวนการรีไซเคิลแพง พลาสติกที่ผลิตออกมาใหม่ราคาถูกกว่าและมีคุณภาพมากกว่าพลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิล

ปัญหานี้ไม่ใช่ระดับบุคคล ที่คนไม่ยอมรีไซเคิลพลาสติก หรือทิ้งขยะผิดถัง แต่ต้องอาศัยนโยบายและการออกกฎหมาย กรีนพีซให้ความเห็นว่า การรีไซเคิลไม่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤติขยะพลาสติก

เพราะว่ามีพลาสติกมากเกินไป เราต้องให้ความสำคัญไปที่การลดพลาสติก ลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง มุ่งไปสู่การใช้ซ้ำ พร้อมทั้งแนะนำว่า ก้าวแรก เพื่อลดความสับสน บริษัทต่างๆ ควรเลิกใส่สัญลักษณ์รีไซเคิลลงไปในผลิตภัณฑ์พลาสติก เพราะมันไม่เคยถูกรีไซเคิลเลย และควรหันไปมาส่งเสริมการใช้ซ้ำ

เช่น การสร้างระบบคนส่งนมที่เปลี่ยนมาใช้ขวดแก้ว เพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก plus.thairath

“พรรคเพื่อไทย” เดินหน้า “ธนาคารน้ำใต้ดิน” รับมือ “เอลนีโญ”

Previous article

คาโอ เปิดตัว บิโอเร เมคอัพ รีมูฟเวอร์ ในบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

Next article

You may also like

More in Life